วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

                       กิจกรรมรับน้องปี 2556
ประเพณีการรับน้อง สิ่งสะท้อนทัศนคติเยาวชน
“คุณอยู่คณะอะไร” “เต็มใจมาไหม”

คำพูดเหล่านี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มเดินทางเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย มันเป็นคำพูดติดปากที่เวลาพบกลุ่มเพื่อนเก่าที่มหาวิทยาลัยทีไร ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้ในก๊วนเดียวกัน ซึ่งในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา กิจกรรมแรก ๆ ที่จะเกิดขึ้นทันทีที่ก้าวเข้ามาอยู่ในสถาบันก็คือ กิจกรรมที่มีชื่อว่า การรับน้องใหม่ ถึงแม้ว่าในหลาย ๆ สถาบันจะมีการใช้ชื่อกิจกรรมนี้แตกต่างกันไป แต่ก็ยังคงรูปแบบและจุดประสงค์ของตัวกิจกรรมที่ต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง รวมไปถึงการสร้างความสามัคคีระหว่างรุ่นน้องด้วยกันเอง ทุกคนที่เคยผ่านการเป็นนิสิตนักศึกษา ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ผ่านกิจกรรมรับน้องนี้มาแล้วแทบทั้งสิ้น
และจากการได้มีโอกาสไปเข้ารับฟังเสวนาต่อเนื่อง เรื่องของ “พฤษภา สาหัส” ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ซึ่งจัดขึ้นโดยทางโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ทราบถึงปัญหาและแนวคิดมากมายจากทั้งคณาจารย์ ตัวแทน และอดีตตัวแทนนักศึกษาที่ไปร่วมเสวนาในครั้งนี้ ท่ามกลางกิจกรรมที่เรียกกันว่า “การรับน้อง”
ตามความจริง กิจกรรมการรับน้องใหม่ อาจถือได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยก็ว่าได้ เพราะคำว่าประเพณีตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมา จนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี” ซึ่งกิจกรรมรับน้องนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ถ้าจะศึกษาว่าเกิดขึ้นมาเมื่อไรนั้น ก็ไม่มีข้อมูลที่มาอธิบายได้เด่นชัด แต่น่าจะมาพร้อมกับการเกิดลักษณะรุ่นพี่รุ่นน้องขึ้นกับนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
ความหมายของการรับน้องนั้น รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ ในการเสวนาว่า “การรับน้องเป็นการส่งมอบความสุขจากผู้ที่มาอยู่ก่อน สู่ผู้ที่มาอยู่ใหม่ ” ซึ่งก็คือ เป็นการสืบทอดความรู้สึกอันดีต่าง ๆ ของรุ่นพี่สู่รุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ สมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยที่กว้างขวางด้วยแล้ว การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อน พี่น้อง ร่วมสถาบันเดียวกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้แต่ละบุคคลมีความเชื่อมโยงและกว้างขวางมากขึ้นด้วย และจากการที่ภายในมหาวิทยาลัย ผู้คนที่มาอยู่ก็ล้วนมาจากพื้นที่ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งภาษาที่แตกต่างกัน การได้รู้จักเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อบุคคลนั้นในภายภาคหน้า จึงนับได้ว่า ประเพณีรับน้อง คือปราการด่านแรกที่ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าขาดกิจกรรมส่วนนี้ไป ก็อาจเป็นการยากที่จะสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักเพื่อนร่วมคณะ หรือสถาบันเดียวกัน จนบางครั้งอาจถึงขั้นต่างคนต่างอยู่ ไม่จำเป็นต้องสนใจกันเลยก็เป็นได้
แม้ว่าความหมายของกิจกรรมรับน้อง จะเป็นข้อดีที่เห็นเด่นชัด แต่ผลจากการกระทำกลับพบว่า กิจกรรมรับน้องกลับกลายเป็นสิ่งที่ดูโหดร้ายรุนแรง ลามกอนาจาร ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษย์ชนและขัดแย้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย อาทิ เช่น การใช้กรรมวิธีที่เรียกว่า ระบบ SOTUS การบังคับให้แสดงออกในท่าทางอนาจารและหยาบโลน การพาไปยังสถานที่มั่วสุม ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จนกระทั่งการพาไปยังสถานที่เพื่อประกอบกิจทางเพศ ที่เรียกเป็นศัพท์แสลงว่า “การพาไปขึ้นครู” ตามความเห็นของ รศ. มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ซึ่งในบรรดากิจกรรมทั้งหมดนี้ ระบบ SOTUS และการขู่เข็ญบังคับให้แสดงกิริยาในท่าทางลามกอนาจารและหยาบโลน เป็นกิจกรรมที่มีการพูดถึงมากที่สุด เพราะเป็นกิจกรรมที่อยู่ระหว่างข้อดีกับข้อเสีย ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมชนิดอื่นที่แสดงให้เห็นแต่ข้อเสียอย่างชัดเจน
ตามรายงานที่มีชื่อว่า “รับน้อง” ประเพณีที่ยังต้องการคำอธิบาย ของ อาจารย์สลักจิต ตรีรณโอภาณ ได้กล่าวถึงกิจกรรมรับน้อง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า กิจกรรมรับน้อง แม้ไม่มีความเป็นมาแน่ชัด แต่ก็อาจคาดเดาได้จาก บรรยากาศหลังจากการทราบผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นช่วงเวลาแห่งความปิติยินดีของกลุ่มเด็กรุ่นน้อง ซึ่งรุ่นพี่ก็ได้เข้ามารับขวัญและร่วมแสดงความยินดี และเมื่อรุ่นหนึ่งสืบทอดต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง การรับน้องนี้จึงกลับกลายมาเป็นประเพณีการรับน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์ ของแต่ละสถาบันในที่สุด แล้วสิ่งที่มาพร้อมกับประเพณีการรับน้องตั้งแต่แรกเริ่มเลยก็คือ ระบบ SOTUS
ระบบ SOTUS ประกอบด้วยคำ 5 คำ ที่มีความหมายแตกต่างกัน 5 ประการ ดังนี้
S – Seniorty มีความหมายว่า ความสัมพันธ์แบบนับพี่ ถือน้อง
O – Order มีความหมายว่า การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ
T – Tradition มีความหมายว่า การสืบทอด ประเพณี ที่ยึดถือกันมา
U – Unity มีความหมายว่า ความสามัคคีในหมู่คณะ
S – Spirit มีความหมายว่า ความมีน้ำใจ เสียสละต่อส่วนรวม
ซึ่งเป็นระบบที่เกิดจากในสหรัฐอเมริกา ใช้ในการปกครองและปลูกฝังการฝึกทหารใหม่ ก่อนจะแทรกซึมเข้ามาทางประเทศฟิลิปปินส์จนเข้ามาสู่ประเทศไทยในที่สุด
และรูปแบบของระบบ SOTUS นั้น มีความคล้ายคลึงกับการฝึกทหาร โดยจะมีรุ่นพี่ที่จะคอยคุมกลุ่มของรุ่นน้อง ซึ่งส่วนใหญ่เรียกกันว่า ว๊ากเกอร์ ซึ่งคำนี้อาจจะแตกต่างไปตามแต่ละสถาบัน เช่น พี่ระเบียบ พี่วินัย เป็นต้น ซึ่งเราอาจมองได้ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้รุ่นน้องได้ร่วมมือช่วยเหลือกัน และมีความนับถือรุ่นพี่และอาจารย์ แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็อาจเป็นการบังคับ ขู่เข็ญอย่างไม่เป็นธรรม จนดูเหมือนเป็นการแกล้งรุ่นน้องไป
ส่วนในการบังคับให้ร้องเพลงและแสดงออกในท่าทางอนาจารและหยาบโลนนั้น น่าจะมาจากการจัดสันทนาการให้กับรุ่นน้องได้สนุกสนานกัน ซึ่งมีกันมานานแล้ว และบางครั้งท่วงท่า ทำนอง จนไปถึงเนื้อร้อง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย โดยมักจะแสดงออกมาเป็นสองแง่สองง่าม เพื่อให้เกิดความเฮฮา ตลกขบขันและสนุกสนาน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะดูเกินเลยไป
กิจกรรมนี้ ถึงแม้จะเป็นในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เยาวชน เริ่มที่จะเห็นว่าการบังคับ ข่มขู่ จนถึงการแสดงออกถึงเรื่องทางเพศและอบายมุขอย่างโจ่งแจ้ง ถือเป็นที่สามารถกระทำได้อย่างธรรมดาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นภาพของนักศึกษาหญิงที่คุกเข่าและใช้ลิ้นเลียหรือเอามือลูบคลำมะเขือยาวที่ผูกอยู่ที่เอวนักศึกษาชาย หรือภาพนักศึกษาชายที่เดินแก้ผ้าเป็นแถวโดยมีนักศึกษาหญิงยืนมองดูอยู่ 2 ข้างทาง กลับกลายเป็นสิ่งที่นักศึกษาในสถาบันต่างมองว่าเป็นเรื่องตลกเฮฮา ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในยุคอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต
ในการเสวนา อาจารย์วิภา ดาวมณี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้กล่าวถึง ยุคของกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งได้แบ่งแยกไว้อย่างน่าฟังไว้ ดังนี้
ยุคแรกสายลมแสงแดด
คือ ยุคที่นักศึกษาสนใจแต่ความบันเทิงเริงรมย์ เน้นความสนุกสนาน และความสบายส่วนตัว
เป็นหลัก
ยุคที่สอง แสวงหา
คือ ยุคที่เริ่มคำนึงถึงสังคมมากขึ้น เกิดจิตอาสา เกิดความต้องการพัฒนาสาธารณะ ซึ่งเป็นที่มา
ของชุมนุมอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นการออกค่ายต่าง ๆ
ยุคที่สามประชาธิปไตยเบ่งบาน
คือ ยุคที่นักศึกษาเข้ามามีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นยุคที่สถาบันนักศึกษามี
ความเข้มแข็งมากที่สุด
ทั้งสามยุค ต่างจะวนเวียนไปตามสภาพของสถานการณ์ เวลา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้ามันเป็นไปเช่นนี้จริง ในปัจจุบันนี้ก็คงอยู่ในช่วงของยุคสายลมแสงแดด ที่มีแต่ความบันเทิงเริงใจจนในบางครั้งดูมากเกินไป จนอาจจะต้องจัดใหม่ ให้อยู่ในยุคมืดที่เรียกว่า กาลียุค ก็เป็นได้
ถึงแม้ว่าการรับน้องจะเป็นเพียงแค่กิจกรรมที่จัดขึ้นมาธรรมดา ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงทัศนคติความคิดเห็นของเยาวชนในรุ่นที่กำลังจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ แล้วถ้าเกิดสิ่งนี้ตกทอดไปสู่เยาวชนในรุ่นต่อ ๆ ไป ปัญหาที่จะตามมา ก็เป็นสิ่งที่น่าหนักใจไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างก็มีความคิดที่แยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ แทนที่อาจารย์จะห้ามไม่ให้จัดหรือสั่งให้ทำกิจกรรมตามแบบแผนที่ตั้งไว้ การสนับสนุนให้จัด และดูแลอย่างใกล้ชิดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ใช้การปรับแทนการเปลี่ยน แนะนำให้ลดความรุนแรงและหยาบโลนลง แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปแทน ในการเสวนาเห็นด้วยกับการฝึกรุ่นพี่ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงรุ่นน้อง ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้เข้าใจว่าอย่างไหนเป็นกิจกรรมช่วยละลายพฤติกรรม และอย่างไหนเป็นกิจกรรมที่ไร้สาระไม่เหมาะสม
การให้ทางสมาคมผู้ปกครอง หรือผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้อง ก็นับเป็นวิธีหนึ่ง ที่ช่วยลดความตึงเครียดระหว่าง มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ รุ่นน้อง และผู้ปกครองได้ ให้พวกเขาได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการจัดงาน

ถึงแม้ว่าเราอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งหมด แต่การที่เริ่มต้นวางรูปแบบอย่างชัดเจน ก็จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยได้ เสมือนน้ำที่หยดลงหิน สักวันหินก็จะกร่อน ดำเนินการไปเรื่อย ๆ ลดทัศนคติของเยาวชนในทางที่ไม่เหมาะสมลง และเพิ่มเติมความคิดที่สร้างสรรค์ลงไป ในไม่ช้า คนยุคนี้และต่อ ๆไป ก็จะมีทัศนคติและความคิดในทางที่ดีต่อการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ได้
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าเยาวชนจะไม่ก้าวพลาดล่วงเข้าสู่ กาลียุค อย่างที่เป็นห่วงแน่นอน...